ทำไมรถติดแก๊สถึงเกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง? เป็นสิ่งที่เรามักพบเห็นกันอยู่บ่อยครั้งสำหรับรถติดแก๊ส ที่มักเกิดไฟไหม้ตัวรถยนต์ อาจเกิดจากอุบัติเหตุเชี่ยวชน หรืออยู่ดีๆก็เกิดไฟลุกขึ้นมา ทำไมรถติดแก๊สถึงเกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง สาเหตุของการเกิดไฟลุกไหม้ส่วนใหญ่เกิดจาก ตัวเชื้อเพลิง, ประกายไฟ และออกซิเจนหรืออากาศ ที่จะเป็นตัวช่วยให้เกิดการติดไฟได้เร็วขึ้น
เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ต้องเกิดไฟลุกท่วมทุกคันหรือไม่?
รถที่ติดแก๊ส ไม่ว่าจะเป็นแก๊สชนิดใดก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดไฟลุกไหม้อยู่แล้ว เนื่องจากคุณสมบัติของแก๊ส จะมีความไวติดไฟได้ง่าย เมื่อเชื้อเพลิงมีการรั่วไหล ก็มีโอกาสเกิดการลุกไหม้ได้ตลอดเวลา แต่จริงๆแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ใช้แก๊ส หรือน้ำมันก็ตาม หากมีเกิดอุบัติเหตุในลักษณะที่รุนแรง ก็มีโอกาสทำให้ถังเชื้อเพลิงแตก จนเกิดเพลิงลุกไหม้ได้เช่นกัน
ระหว่างแก๊ส LPG กับ NGV ชนิดไหนติดไฟง่ายกว่ากัน?
แก๊ส LPG (แก๊สปิโตรเลียมเหลว) จะมีคุณสมบัติหนักกว่าอากาศ เมื่อแก๊สเกิดการรั่วไหล จะกระจายตัวลงสู่ด้านล่าง หากมีปริมาณความเข้มข้นของแก๊สมากพอ ก็สามารถที่จะติดไฟได้ตลอดเวลา สำหรับแก๊ส NGV มีคุณสมบัติเบากว่าอากาศมาก เมื่อเกิดการรั่วไหล จะกระจายตัวและลอยตัวสู่อากาศอย่างรวดเร็ว ดังนั้นถ้าเปรียบเทียบกัน แก๊ส LPG จะมีความเสี่ยงต่อการติดไฟง่าย และรวดเร็วกว่าแก๊ส NGV
เปรียบเทียบรถใช้น้ำมัน กับ รถใช้แก๊ส
รถที่ใช้แก๊ส มีความเสี่ยงต่อการติดไฟ และเกิดไฟลุกไหม้ ง่ายกว่ารถที่ใช้น้ำมัน เพราะแก๊สจะกระจายตัวสูงไปทั่วพื้นที่ได้รวดเร็วกว่าน้ำมัน ขณะที่น้ำมัน จะไหลลงสู่พื้น ไม่กระจายตัวขึ้นในอากาศ ดังนั้น ปริมาณการรั่วไหลของแก๊ส จึงเป็นอันตรายกว่าการรั่วของน้ำมัน หากแก๊สเกิดการรั่วไหล จะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ แต่สามารถรับรู้ได้จาก กลิ่น ซึ่งผู้ใช้รถจะต้องมีการเปิดประตู และกระโปรงท้ายรถที่ติดตั้งถังเชื้อเพลิง เพื่อให้แก๊สระบายออกโดยธรรมชาติ และต้องไม่ให้เกิดประกายไฟอย่างเด็ดขาด
การติดตั้งถังแก๊สเชื้อเพลิง
จะต้องติดตั้งในร้านที่มีเครื่องหมาย และได้รับอนุญาต การเป็นผู้ติดตั้งแก๊ส LPG และ CNG จากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น การติดตั้งถังเชื้อเพลิงในส่วนท้ายรถ จะต้องมีระยะห่างจากกันชนไม่น้อยกว่า 20 ซม. หากติดตั้งไว้ใต้ท้องรถ จะต้องมีระยะห่างจากฐานส่วนกลางถึงกึ่งกลางเพลาท้าย ไม่น้อยกว่า 1/6 แต่ไม่ว่าจะติดตั้งไว้ในตำแหน่งใดก็ตาม ความปลอดภัยก็ไม่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการแตก และการรั่วไหลของแก๊ส หลังจากติดตั้งเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำรถไปตรวจสอบสภาพ โดยวิศวกรที่กรมการขนส่งทางบก จะตรวจสอบอีกครั้งว่ามีการติดตั้งถูกต้องหรือไม่ ระบบการทำงานสมบูรณ์หรือไม่ รถที่ติดตั้งแก๊ส LPG จะต้องมีการตรวจสอบสภาพแก๊ส ทุกๆ 5 ปี หลักจากการติดตั้งครั้งแรก สำหรับรถที่ติดตั้งแก๊ส NGV มีการติดตั้งถังภายหลังจากการผลิตรถ จะต้องตรวจสอบทุกๆ 1 ปี หลังจากการติดตั้งถังครั้งแรก
source : https://bit.ly/30QKtYQ