ระบบเบรกมีความสำคัญต่อการขับขี่ เพราะถ้าหากระบบเบรกไม่ดี อาจทำให้การเบรกมีปัญหา เบรกติดๆ ขัดๆ เบรกไม่ทัน หรือต้องเหยียบเบรกลึกมากขึ้นถึงจะเบรกอยู่ อาการเหล่านี้อาจส่งผลให้การขับขี่มีปัญหา และอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น รถข้างหน้าเบรกกระทันหัน เราเบรกไม่ทันอาจไปชนคันข้างหน้าได้ เป็นต้น ดังนั้นจึงควรตรวจเช็คระบบเบรกกันให้ดีว่ามีอะไรควรต้องเปลี่ยนบ้าง ได้เวลา เปลี่ยนผ้าเบรก กันแล้วหรือยัง?
ผ้าเบรก และความสำคัญของระบบเบรก
ทุกชิ้นส่วนของระบบเบรกล้วนมีความสำคัญทั้งนั้น ผ้าเบรก ก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นสิ่งที่ควรต้องหมั่นดูแลรักษาไม่ต่างจากส่วนอื่นๆ ของรถยนต์ โดยผ้าเบรกมีความสำคัญคือ เป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่ติดอยู่กับดิสก์เบรก โดยทำหน้าที่ลดแรงเสียดทานเพื่อให้รถหยุดเมื่อเราแตะเบรก และทำให้การเบรกไม่เกิดเสียงดัง ซึ่งระบบเบรกจะใช้งานได้ดีมากน้อยแค่ไหน การเลือกใช้ผ้าเบรกก็สำคัญ
เราควร เปลี่ยนผ้าเบรก เมื่อไหร่?
โดยปกติแล้วผ้าเบรกมีอายุการใช้งาน 48,000-56,000 กิโลเมตร แต่ควรหมั่นตรวจสอบผ้าเบรกถึงระยะใช้งาน 20,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 3 เดือน ว่ายังใช้งานดีอยู่หรือไม่ เพราะรถที่ใช้งานทุกวัน ผ้าเบรกย่อมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา หากใครใช้รถเป็นประจำ หรือรถที่วิ่งอยู่ในเมืองรถติดๆ ต้องเหยียบเบรกตลอด อาจต้องเปลี่ยนผ้าเบรกเร็วกว่าระยะกำหนด ทั้งนี้ต้องหมั่นตรวจดูว่าผ้าเบรกสึกไปมากแล้วหรือยัง ผ้าเบรกบางกว่าปกติหรือเปล่า หรืออาจลองฟังเสียงเบรกว่ามีเสียงดังเวลาเบรกหรือเปล่า ถ้าหากมีเสียงดังอาจเป็นไปได้ว่าผ้าเบรกเสื่อมหรือหมด ควรต้องเปลี่ยนใหม่ ซึ่งสัญญาณเตือนหลักๆ ที่บอกว่าควรเปลี่ยนผ้าเบรกได้แล้ว ก็คือ
- เหยียบเบรกแล้วมีเสียงดัง – เมื่อเหยียบเบรกแล้วเสียงเบรกดังเอี๊ยดอ๊าด เหมือนเสียงเหล็กเสียดสีกัน อาจเกิดจากผ้าเบรกบางจนตัวเหล็กที่ยึดกับดิสก์เบรกไปขูดเข้ากับจานเบรก
- ใช้แรงเหยียบเบรกมากขึ้น – จากปกติที่เหยียบเบรกไม่ลึกมากรถก็เบรกแล้ว แต่พอนานเข้าเวลาจะเบรกแต่ละทีต้องออกแรงเหยียบมกาขึ้น เหยียบเบรกลึกกว่าเดิม และรถใช้เวลาในการเบรกช้ากว่าเดิม
- สัญญาณไฟเตือนขึ้นที่ปัด – หากระบบเบรกมีปัญหา จะมีสัญญาณเตือนขึ้นที่หน้าปัด เป็นไปได้ว่าผ้าเบรกสึก หรือไม่ก็น้ำมันเบรกมีปริมาณน้อยเกินไป
- ผ้าเบรกบางลง – เมื่อลองเช็คผ้าเบรกแล้วมีความหนาน้อยกว่า 4 มิลลิเมตร ควรต้องเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่
เลือกผ้าเบรกแบบไหนดี?
ผ้าเบรก ที่ไม่ได้เป็นผ้า แต่มีส่วนประกอบที่เป็นเนื้อแข็ง โดยแบ่งประเภทได้ดังนี้
- ผ้าเบรก Abestos หรือ ผ้าเบรกแร่ใยหิน เป็นผ้าเบรกในยุคเริ่มแรกที่สมัยก่อนนั้นนิยมมาก โดยทำมาจากสารแร่ใยหิน แต่เมื่อเบรกจะเกิดเขม่าสีขาวและเวลาเบรกบ่อยๆ มีความร้อนสูงจึงยกเลิกใช้ไป
- Non Abestos Organic หรือ Non Matallic Material เมื่อผ้าเบรกยุคแรกถูกลดความสำคัญลง ผ้าเบรกยุคใหม่จึงสร้างขึ้นโดยไม่ใช่สารแร่ใยหิน เป็นการเลือกใช้สารอื่นๆ มาแทนแร่ใยหินนั่นเอง ซึ่งข้อดีคือ ไม่กินจานเบรก และราคาถูก แต่ข้อเสียคือ มีอายุการใช้งานไม่นาน ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ และมีครบเขม่าสีดำติดอยู่ที่ล้อ
- Semi-metallic materials หรือ ผ้าเบรกกึ่งผสม ราคาผ้าเบรกจะสูงขึ้นมา ด้วยกระบวนการผลิตที่มีการนำแร่ใยเหล็กมาผสมกับแร่อื่นๆ ทำให้สามารถทำงานได้ดีในอุณหภูมิที่สูงกว่า ข้อเสียคือ มีการกินจานกว่าเบรกปกติเล็กน้อย และราคาสูง แต่ข้อดีคือ มีประสิทธิภาพในการเบรกดี เหมาะกับการใช้งานรถที่บรรทุกหนัก หรือรถที่เบรกบ่อยๆ
- Fully Metallic Material หรือ ผ้าเบรกใยเหล็ก เป็นผ้าเบรกประสิทธิภาพสูงที่ทำมาจากใยเหล็ก มีข้อดีคือ ทนความร้อนสูงมาก มีประสิทธิภาพในการเบรกดีมาก ข้อเสียคือเวลาเบรกมีเสียงดัง และกินจานมาก และราคาค่อนข้างแพง เพราะกับรถที่ต้องขับด้วยความเร็ว เช่น รถแข่ง หรือรถแต่ง
- Ceramic Brake หรือ เบรกเซรามิก โดยการผสมของวัสดุแก้วเข้าไปผสมกับเนื้อโลหะบางชนิดเช่นเส้นใยทองแดง เพื่อให้ทนต่อความร้อน และมีประสิทธิภาพในการเบรกดีมาก แต่ก็แพงมากเช่นกัน
ดูแลเรื่องเบรกแล้ว อย่าลืมดูแลเปลี่ยนถ่ายของเหลวภายในรถยนต์ เพื่อประสิทธิภาพที่ดีกว่า