เทคนิคการขับรถ ขึ้น-ลงเขาง่ายๆ ใครๆก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเทศกาล หรือวันหยุดต่างๆ หลายคนคงออกเดินทางท่องเที่ยวตามจังหวัด สัมผัสอากาศดีๆ วิวที่สวยงาม การเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละครั้ง ก็จะมีเส้นทางที่มีความยากง่ายแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของพื้นถนน ความกว้าง ความแคบ ความเร็วที่ใช้ จำนวนรถในเส้นทางนั้นๆ โดยเฉพาะการขับรถขึ้น-ลงเขา บางเส้นทาง จะมีรถบรรทุกวิ่งกันขวักไขว่ อย่างเช่น ดอยขุนตาล มีทั้งรถบรรทุก รถยนต์ทั่วไป วิ่งโดยใช้ความเร็วค่อนข้างสูง เรียกได้ว่าไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว
เทคนิคการขับรถ ขึ้น-ลงเขาง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้
อย่างที่หลายๆคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่า เมื่อต้องขับรถขึ้น-ลงเขานั้น ควรใช้เกียร์ต่ำ แต่เราจะใช้เกียร์ต่ำอย่างไรให้ปลอดภัย รวมถึงยังมีรายละเอียดอื่นๆในการขับขี่ ที่ควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
เทคนิคการขับรถขึ้นเขา
- สำหรับเกียร์ธรรมดา
สำหรับรถเกียร์ธรรมดา ควรใช้เกียร์ต่ำ คือเกียร์ 1 หรือ เกียร์ 2 ขึ้นอยู่กับความชันของเส้นทางนั้นๆ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะหากใช้เกียร์สูง จะทำให้เครื่องยนต์ไม่มีกำลังมากพอที่จะขึ้นเขาได้ ควรรักษาความเร็วให้สม่ำเสมอ และไม่ควรลากเกียร์จนสุด
- สำหรับเกียร์ออโต้
สำหรับรถเกียร์ออโต้ โดยปกติของการขับขี่ หลายๆคน คงจะใช้แค่เกียร์ D ในการขับขี่แน่นอนอยู่แล้ว แต่รถยนต์เกียร์ออโต้นั้น ยังมีเกียร์ขับเคลื่อนอื่นๆอีก ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็จะมีการเรียกแตกต่างกันไป เช่น เกียร์ S,L,B,D3,D2 เกียร์เหล่านี้ ถึงจะมีชื่อเรียกต่างกัน แต่คุณสมบัติไม่ได้แตกต่างกัน หากเส้นทางมีความชันมากขึ้นกำลังเครื่องเริ่มตก แนะนำให้เปลี่ยนจากเกียร์ D เป็น เกียร์อื่นแทน เช่น เกียร์ S,L,B,D3,D2 จะช่วยให้รถมีอัตราเร่งมากขึ้น รถมีกำลังขับเคลื่อน และเดินทางขึ้นเขาได้อย่างต่อเนื่อง ควรรักษารอบเครื่องยนต์ให้อยู่ระหว่าง2,000-3,500 รอบ/นาที และเพื่อความปลอดภัยไม่ควรใช้ความเร็วเกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง
เทคนิคการขับรถลงเขา
การขับรถลงเขา จะมีความยากกว่า การขับรถขึ้นเขาเป็นอย่างมาก และมีความอันตรายมากกว่า เพราะด้วยความเร็วที่ลงมาจากเขา ทำให้เราต้องใช้เบรคเพื่อชะลอความเร็วอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เบรคไหม้ได้ เทคนิคก็คือ ควรใช้เกียร์ต่ำนั่นเอง เพื่อให้เครื่องยนต์เกิดแรงต้านช่วยดึงกำลังให้เคลื่อนที่ช้าลง ที่เรียกกันว่า เอ็นจิ้นเบรค (Engine Brake) หากเส้นทางลงเขาไม่ชันมาก สามารถใช้เกียร์ D ได้ แต่ถ้าเส้นทางลงมีความชันมากขึ้น ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้เกียร์ S,L,B,D3,D2 และที่สำคัญ ห้ามใช้เกียร์ว่างเด็ดขาด เพราะจะส่งผลให้รถไหลลงเขา ด้วยความเร็วสูง โดยไม่มีแรงต้านจากเครื่องยนต์ และยังทำให้ควบคุมรถได้ยาก จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้
ข้อควรรู้เพิ่มเติมในการขับรถขึ้น-ลงเขา
- ระวังทางโค้ง
โดยปกติ ทางขึ้น-ลงเขา จะตัดถนนเป็นทางโค้งคดเคี้ยวไปมา ยิ่งภูเขาสูงมาก ถนนก็ยิ่งมีความคดเคี้ยวมาก เพราะลดความลาดชันของพื้นที่ ทำให้รถสามารถขับขึ้นไปได้ เวลาเข้าโค้งจึงควรขับชิดซ้ายเอาไว้ เผื่อหากมีรถอีกฝั่งแซงมาในทางโค้งจะได้หลบหลีกได้ทัน
- ไม่ควรแซงไปมา
เส้นทางถนนบนเขา ส่วนใหญ่จะมีความแคบและคดเคี้ยว ทำให้ไม่สามารถมองเห็นรถอีกฝั่งได้ เพราะถูกทางโค้งหรือต้นไม้บดบัง จึงไม่ควรขับแซงในเขตห้ามแซง หรือไม่ควรขับแซงในที่ที่ไม่สามารถมองเห็นรถอีกฝั่งได้ เนื่องจากอุบัติเหตุบนเขาส่วนใหญ่ มาจากการแซงทางโค้ง หรือแซงโดยที่ไม่เห็นรถอีกฝั่ง แต่หากจำเป็นต้องขับแซงรถคันหน้า ให้รอจังหวะในทางราบ หรือไม่ชันมากนัก
- คำนวณระยะเบรก
ไม่ว่าจะเป็นทางขึ้น หรือลงเขาก็ตาม ควรมีการเว้นระยะห่างจากรถคันหน้ามากกว่าปกติ เพื่อป้องกันการเบรกกระทันหัน โดยเฉพาะสำหรับทางลงเขา ที่มีความชันมาก รถต้องการระยะเบรกที่ยาวกว่าปกติ ความลาดชันของเส้นทาง และน้ำหนักตัวรถ จะมีผลต่อการเบรก ทำให้ได้ช้าลง ดังนั้นควรเว้นระยะห่างให้เหมาะสม เพื่อความปลอดภัย
- รักษาอัตราเร่งเครื่องยนต์ อย่างสม่ำเสมอ
ในการขับขี่รถขึ้นเขา รักษาอัตราเร่งเครื่องยนต์ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รถมีกำลังขับเคลื่อนขึ้นเขาได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเส้นทางชันยาวๆ ไม่ควร เร่งๆ หยุดๆ เพราะจะทำให้รถเสียกำลังขับเคลื่อนและอาจไหลลงมาได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างมากต่อตัวเราเองและเพื่อนร่วมทาง
- แตะเบรกเป็นระยะ
สำหรับการขับรถลงเขา แรงฉุด แรงต้าน จากเครื่องยนต์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงต้องมีการใช้เบรกช่วย เพื่อชะลอความเร็วของรถ และที่สำคัญ ห้ามแตะเบรกแช่ยาวเด็ดขาด เพราะจะทำให้เบรกไหม้และเบรกไม่อยู่ ควรแตะเบรกในช่วงจังหวะที่จำเป็นเท่านั้น
- หากมีกลิ่นไหม้ ควรรีบจอดในที่ปลอดภัยทันที
หากขณะขับขี่รถขึ้นเขา หรือลงเขา แล้วเกิดกลิ่นเหม็นไหม้ขึ้นมา แนะนำรีบนำรถยนต์เข้าไปจอดในที่ที่ปลอดภัยทันทีเพราะกลิ่นไหม้นั้นอาจจะเกิดขึ้นมาจาก เครื่องร้อนมากเกินไป หรืออาจเกิดเบรคไหม้เกิดขึ้น
เห็นไหมว่า เทคนิคการขับรถขึ้น-ลงเขาง่ายๆ ใครๆก็ทำได้ นอกจากเทคนิคในการขับขี่แล้ว สิ่งที่ควรรู้อีกอย่างคือ การตรวจสอบสภาพรถยนต์ก่อนออกเดินทาง ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ควรทำเลยทีเดียว เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง และเครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มที่แม้จะต้องขึ้น-ลงเขาก็ตาม ถ้าอยากรู้ว่ามีส่วนไหนต้องตรวจสอบบ้าง คลิกเลย >> เช็ครถก่อนเดินทางไกล ด้วยตัวเองง่ายๆ มีอะไรบ้าง?