รถใครมีอาการแบบนี้บ้าง ขับแล้วเหมือนพวงมาลัยดึงมือ ให้เอนไปข้างใดข้างหนึ่ง จำเป็นต้องบังคับพวงมาลัยตลอดเวลาเพื่อให้รถตรง อาการ พวงมาลัยดึง เกิดจากอะไร แล้วควรป้องกันแก้ไขอย่างไร
ยางรถยนต์
สาเหตุหลักๆ ส่วนใหญ่ของอาการ พวงมาลัยดึง มักเกิดมาจากยางรถยนต์ เช็คเบื้องต้นดูว่าลมยางอ่อนไปหรือเปล่า ถ้าอ่อนเกินไปอาจทำให้รถเสียการทรงตัวจนต้องดึงพวงมาลัยตลอดเวลา ควรเติมลมยางให้พอดี หรือถ้าไม่ใช่ที่ยางอ่อน ต้องดูสภาพยางรถยนต์ หากเป็นยางเก่าที่ใช้งานมานานหลายปี อาจมีการสึกหรอเสื่อมสภาพไป หน้าสัมผัสอาจไม่เท่ากัน ทำให้รถเสียสมดุล หรือใช้ยางผิดประเภท ผิดขนาด ยางแต่ละเส้นมีขนาดไม่เท่ากัน ก็มีส่วนเช่นกัน
การทดสอบว่าอาการพวงมาลัยดึงเกิดมาจากยางรถยนต์ คือ สลับยางหน้า ทั้ง 2 เส้น แล้วถ้าสลับแล้วการดึงไปทางตรงกันข้าม เช่นตอนแรกดึงซ้าย พอสลับยางแล้วดึงขวา ก็แน่ใจได้เลยว่ามาจากยาง อาจต้องเปลี่ยนยางใหม่ หรือไม่ก็สลับยางหลังมาไว้ข้างหน้าใช้ไปก่อนได้
พวงมาลัยดึง ช่วงล่างมีปัญหา
หากเช็คยางแล้วยังคงมีปัญหาอยู่ ซึ่งเป็นไปได้ว่าไม่ได้เกิดจากยาง อาจต้องมาเช็คกันที่ช่วงล่าง โดยลองตั้งศูนย์ถ่วงล้อ เพราะหากตั้งศูนย์ไม่ดี องศาผิดไปนิดเดียว รถก็สามารถเอนไปข้างใดข้างหนึ่งได้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีก เช่น แหนบรถที่นิ่มลงกว่าเดิม การรับน้ำหนัก โช้ค สปริง ต่างๆ เสื่อมสภาพลงทำให้รับน้ำหนักได้ไม่ดี เกิดการทรุดเอียง ทำให้ความสูงแต่ละด้านซ้ายขวาไม่เท่ากัน ก็มีส่วนทำให้พวงมาลัยดึง
วิธีทดสอบว่าพวงมาลัยดึงเกิดจากคอยล์สปริง สังเกตเวลาเลี้ยวโค้งเร็วๆ รถจะมีการเอียงตัวผิดปกติหรือไม่ และลองวัดความสูงรถฝั่งซ้ายฝั่งขวาดูว่าต่างกันมากมั้ย ซึ่งไม่ควรจะสูงต่างกันเกิน 13 มม. หรือครึ่งนิ้ว หากต่างกันมากต้องเช็คดูทั้งสปริงทั้งแหนบว่ามีการชำรุดหรือไม่
ลูกปืนและลูกหมาก
อีกหนึ่งสาเหตุที่ควรเช็ค เมื่อเกิดอาการพวงมาลัยดึง คือ ลูกปืนและลูกหมาก ซึ่งเราอาจจะต้องเอาไปให้ช่างช่วยเช็คดูว่าเกิดจากจุดนี้หรือไม่ เพราะเป็นไปได้ว่ามีการดึงล้อเลี้ยวแล้วไปดึงพวงมาลัยไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือเวลาเบรกรถแล้วพวงมาลัยดึง ก็อาจเป็นปัญหาที่ระบบเบรก ควรให้ช่างซ่อมให้เรียบร้อยจะได้ขับขี่ปลอดภัย และไม่มีปัญหาจุกจิกกวนใจเวลาขับรถ
หมั่นสังเกตและดูแลรถให้ดี และอย่าลืมเปลี่ยนถ่ายของเหลว น้ำมันหล่อลื่น ตามกำหนด เพื่อประสิทธิภาพที่ดีในการขับขี่