หากพูดถึงสบู่ เรามักนึกถึงสบู่ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย แต่จริงๆ แล้วสบู่สามารถแตกย่อยเป็นหลายชนิด ซึ่งในส่วนของการใช้งานทางด้านอุตสาหกรรมเองก็มี สบู่ที่ผสมลงไปในจาระบี โดยมีการผสมกับน้ำมันหล่อลื่นและสารเพิ่มคุณภาพต่างๆ เพื่อให้กลายเป็นจาระบีหลากหลายชนิด โดยช่วยในเรื่องความอ่อนแข็งหรือความข้นเหนียวของจาระบี และยังแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ได้ดังนี้
ชนิดของ สบู่ที่ผสมลงไปในจาระบี
1. สบู่ไลม์ (Lime Soap)
สบู่ไลม์ หรือสบู่แคลเซียม จะมีการผสมไขมันและน้ำมันหล่อลื่นในปริมาณที่เท่ากันกับแคลเซียมไฮดรอกไซด์ ที่อุณหภูมิ 175 °C โดยให้ความร้อนด้วยไอน้ำเป็นเวลา 30 นาที ที่ความดัน 35 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
2. สบู่โซดา (Soda Soap)
สบู่โซดา ทำโดยการเติมไขมันและโซเดียมไฮดรอกไซด์ในภาชนะให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 150 °C เป็นเวลา 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงเติมน้ำมันลงไปผสมเข้าด้วยกัน
3. สบู่ลิเทียม และสบู่แบเรียม (Lithium and Barium Soap)
สบู่ชนิดนี้ จะเป็นการนำเอาคุณสมบัติที่เป็นจุดเด่นของของสบู่ไลม์ และสบู่โซดาเข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อเป็นจารบีที่ทำจากสบู่ลิเทียมหรือแบเรียม จะสามารถกันน้ำได้ แลยังใช้ได้ทั้งอุณหภูมิต่ำและอุณหภูมิสูง โดยมีจุดประสงค์ในการผลิตขึ้นมาสำหรับเครื่องบิน แต่ในปัจจุบันถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในการผลิตเป็นจาระบีสำหรับเครื่องยนต์ และเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม กลายเป็น จาระบีอเนกประสงค์ ขั้นตอนการทำสบู่ชนิดนี้คล้ายกับการผลิตจาระบีจากสบู่โซดาแต่ใช้อุณหภูมิในการผสมที่ 205 °C
4. สบู่อะลูมินัม (Aluminum Soap)
สบู่อะลูมินัมนั้นทำมาจากสบู่โซดา โดยเติมสบู่โซดาลงไปในสารละลายอะลูมิเนียมซัลเฟต (Aluminium Sulfate) อะลูมินัมจะไปแทนที่โซเดียมในสบู่ และโซเดียมจะถูกกำจัดออกไปกับน้ำหรือโซเดียมซัลเฟต จากนั้นนำมาผสมกับน้ำมันในสัดส่วนที่ต้องการ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเฟืองที่มีความเคลื่อนที่ช้าๆ และทำงานที่อุณหภูมิต่ำ เหมาะสำหรับใช้ในเครื่องจักรผลิตอาหาร
คุณสมบัติของสบู่ชนิดต่างๆ
- สบู่ไลม์ หรือสบู่แคลเซียม ทนน้ำ แต่ไม่ทนความร้อน จุดหยด 200 จุดหลอมตัว 85-105°C อุณหภูมิที่ใช้งาน 70-80°C
- สบู่โซเดียม ทนความร้อน แต่ไม่ทนน้ำ จุดหยด 350-400 จุดหลอมตัว 175-200°C อุณหภูมิที่ใช้งาน 120-150°C
- สบู่อะลูมิเนียม ทนน้ำ แต่ไม่ทนความร้อน จุดหยด 200 จุดหลอมตัว 90-110°C อุณหภูมิที่ใช้งาน 70-80°C
- สบู่แคลเซียมคอมเพล็กซ์ ทนน้ำ และทนความร้อน จุดหยด 350-400 จุดหลอมตัว 260-300°C อุณหภูมิที่ใช้งาน 120-150°C
- สบู่ลิเทียม ทนน้ำ และทนความร้อน จุดหยด 350 จุดหลอมตัว 170-200°C อุณหภูมิที่ใช้งาน 120-140°C
- สบู่ลิเทียมคอมเพล็กซ์ ทนน้ำ และทนความร้อน จุดหยด 380 จุดหลอมตัว 260-300°C อุณหภูมิที่ใช้งาน 150-175°C
- คอลลอยแดลเคลย์ ทนน้ำ และทนความร้อนได้สูง อุณหภูมิที่ใช้งาน >500°C
โดยคุณสมบัติหลักๆ ของ สบู่ที่ผสมลงไปในจาระบี จะช่วยในเรื่องของความข้นเหนียว มีคุณสมบัติกึ่งแข็งกึ่งเหลว ช่วยอุ้มและจับเกาะน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานและสารเพิ่มคุณภาพทางเคมี ทำให้จาระบีไม่ไหลเยิ้มในขณะใช้งาน ซึ่งความแตกต่างของจาระบีแต่ละชนิดนั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของสบู่ที่ผสมเข้าไปนั่นเอง