รถใช้งานมานานก็อาจมีงอแงกันบ้าง แต่ถ้าไม่สังเกตกันให้ดีๆ อาการงอแงเล็กๆ น้อยๆ อาจลามเป็นเรื่องใหญ่ ต้องซ่อมเยอะ เสียเงินบานปลาย อย่างน้อยควรรู้ไว้ สังเกตอาการผิดปกติของรถ เพื่อจะได้รีบแก้ไขก่อนรถพัง
สังเกตอาการผิดปกติของรถ เครื่องยนต์
เครื่องยนต์ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของรถยนต์ เพราะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนให้รถวิ่งใช้งานได้เป็นปกติ โดยระบบการทำงานของเครื่องยนต์ มีความเกี่ยวข้องกับ น้ำมันเครื่อง น้ำมันเชื้อเพลิง อากาศที่ส่งผ่านเข้ามาในระบบ รวมถึงลูกสูบและชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำงานร่วมกับระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์ ทั้งหมดนี้หากมีอะไรผิดปกติขึ้นมา ล้วนแต่ส่งผลเสียต่อรถยนต์ทั้งสิ้น การสังเกตเช่น เครื่องยนต์มีเสียงดังหรือไม่, ใต้ท้องรถมีรอยน้ำมันเครื่องหยด, ดึงก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องขึ้นมาดู น้ำมันเครื่องมีสีผิดปกติ หรือปริมาณน้ำมันเครื่องลดลงผิดปกติ ซึ่งหากเราพบความผิดปกติได้เร็ว ก็จะซ่อมแซมได้ทันท่วงที
หม้อน้ำ
หม้อน้ำ จะเกี่ยวกับระบบทำความเย็น หรือการระบายความร้อนให้กับรถยนต์ หากรถความร้อนขึ้น คือ เข็มความร้อนขึ้นสูงผิดปกติ มีหลายสาเหตุที่ต้องสังเกต เช่น ความร้อนขึ้นตอนรถติด แต่พอเคลื่อนที่ความร้อนปกติ อาจเป็นที่พัดลมระบายความร้อน, ความร้อนขึ้นตอนรถวิ่ง อาจเป็นที่หม้อน้ำ เป็นต้น ซึ่งต้องลองตรวจสอบน้ำในหม้อน้ำว่ายังอยู่เต็มหรือไม่ หรือปริมาณลดลง อาจเกิดรอยรั่วตามจุดต่างๆ ของระบบหม้อน้ำ ท่อน้ำ และจุดต่างๆ หากเป็นน้ำเปล่า อาจสังเกตได้ยาก แต่หากเราใช้น้ำยาหล่อเย็น จะเห็นสีสะท้อนแสงซึ่งหาจุดรั่วได้ง่าย
ระบบเกียร์
ถ้าขับรถแล้วรู้สึกว่าเกียร์มีเสียงดัง ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง หรือตำแหน่งเกียร์อื่นๆ แสดงว่าเกียร์เริ่มมีปัญหา หรือมีอาการเกียร์ไม่เปลี่ยนตามรอบเครื่อง เร่งไม่ไป ต้องลองตรวจสอบดูน้ำมันเกียร์ว่าลดลงหรือเปล่า เพราะหากปริมาณน้ำมันเกียร์น้อยจะทำให้ระบบเกียร์ไม่ได้รับการหล่อลื่น จนเกิดการเสียดสีและมีเสียงดัง แต่ถ้าเป็นอาการอื่นอาจต้องให้ช่างช่วยเช็คระบบเกียร์
ระบบเบรก
การขับขี่ที่ดี เบรกก็ต้องดีด้วย หากขับไปแล้วมีอาการเบรกไม่อยู่ เบรกลึก เบรกแล้วมีเสียงดัง หรืออาการใดก็แล้วแต่ที่บ่งบอกว่าเบรกผิดปกติ อย่าปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด เพราะอาจส่งผลให้เกิดอันตรายบนท้องถนน ดังนั้น รีบให้ช่างช่วยเช็คก่อนจะพังไปมากกว่านี้
ระบบไฟฟ้า
ระบบไฟนี้ มีตั้งแต่ แบตเตอรี่ ไดชาร์จ ไปจนถึง ไฟหน้าปัด ไฟของระบบภายในรถยนต์ เช่น แอร์ กระจกไฟฟ้า ไฟส่องสว่างภายในรถ เป็นต้น หากไฟจากแบตเตอรี่มีไม่เพียงพอ หรือแบตเสื่อม ก็อาจทำให้สตาร์ทไม่ติด หรือติดแต่ว่าระบบไฟทำงานไม่เต็มที่ อีกหนึ่งสิ่งที่สังเกตได้ง่ายของระบบไฟก็คือไดชาร์จ โดยปกติสัญญาณไฟชาร์จจะต้องปรากฏที่แผงหน้าปัดรถทุกครั้งที่ติดเครื่องยนต์ และเมื่อเครื่องยนต์ติดแล้วสัญญาณไฟชาร์จจะดับลง แต่ถ้าเราดูแล้วไฟสัญญาณไดชาร์จไม่ขึ้นหรือไม่ดับหลังติดเครื่องยนต์ ก็แสดงว่าไดชาร์จมีปัญหา
สัญญาณไฟ
สัญญาณไฟ และไฟส่องสว่าง เช่น ไฟสูง ไฟหรี่ ไฟฉุกเฉิน ไฟเบรก ไฟท้าย บางครั้งเราซึ่งเป็นผู้ขับขี่อาจไม่ทันสังเกตว่าไฟติดครบทุกดวงหรือไม่ โดยเฉพาะไฟที่อยู่ตรงท้ายรถ ควรหมั่นสังเกตโดยการลองเปิดไฟแต่ละจุดแล้วดูว่าติดครบทุกดวงหรือไม่ ส่วนไฟเบรกนั้น อาจต้องมีคนหนึ่งเหยียบเบรก แล้วให้อีกคนช่วยดู ว่าไฟเบรกยังติดครบทุกดวง หากไม่ครบควรรีบแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายในการขับขี่
พวงมาลัยรถยนต์
สังเกตดูว่า พวงมาลัยหนักกว่าเดิม หมุนฝืด ต้องออกแรงเยอะ หรือว่าเวลาหมุนพวงมาลัยแล้วมีเสียงดังหรือไม่ มีความเป็นไปได้ว่าน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์มีปริมาณลดลงมาก ต้องเติมให้พอดี เพื่อให้สามารถหล่อลื่นระบบพวงมาลัยให้ใช้งานได้ปกติ แต่ถ้าไม่เป็นที่น้ำมัน อาจมีชิ้นส่วนชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดเสียงดัง ควรรีบให้ช่างช่วยตรวจเช็ค
ยางรถยนต์
ยางรถยนต์ผิดปกติ สังเกตไม่ยาก หากขับไปแล้วรู้สึกว่ารถหนักๆ รถกินน้ำมันมากขึ้น อาจเป็นเพราะแรงดันลมยางอ่อน ทำให้ใช้กำลังในการขับเคลื่อนมากกว่าเดิม ต้องเติมลมยางให้พอดีกับรถ หรือหากขับไปแล้วได้ยินเสียงดังวืดๆ เป็นไปได้ว่ายางบวม อาจต้องเปลี่ยนยางใหม่ หากดูดอกยางแล้วดอกยางแต่ละล้อมีการสึกไม่เท่ากัน อาจเป็นที่การตั้งศูนย์ถ่วงล้อไม่ตรง ควรตั้งศูนย์ใหม่
จะเห็นว่าการดูแลรถแต่ละคันจำเป็นต้องสังเกตและใส่ใจ หากพบการผิดปกติใดๆ แล้วแก้ไขได้เร็วและถูกจุด ก็จะทำให้รถอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และอยู่กับเราไปได้นานๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนถ่ายของเหลวตามกำหนด เพื่อให้รถยนต์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ