ยุคน้ำมันแพง หลายคนก็อยากจะ นำรถยนต์ไปติดแก๊ส เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน เพราะราคาแก๊สยังถูกกว่าราคาน้ำมันรถอยู่มาก แต่การจะเอารถไปติดแก๊ส ก็ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียต่างๆ รวมไปถึงความคุ้มค่าในการใช้งานประกอบกันไปด้วย
ประเภทของแก๊สรถยนต์
– แก๊ส LPG (Liquefied Petroleum Gas)
ก๊าซ LPG ที่มักเรียกกันว่าก๊าซหุงต้ม มีลักษณะเป็นของเหลวที่ระเหยง่าย ได้มาจากการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่น ออกมาในหอกลั่นเดียวกับน้ำมันดีเซล, น้ำมันเบนซิน เป็นต้น มีส่วนผสมหลักเป็นโพรเทน 70% และบิวเทน 30% ไร้สีไร้กลิ่น แต่ได้มีการใส่กลิ่นฉุนลงไปเพื่อความปลอดภัย หากมีการรั่วไหลจะได้ทราบได้
ก๊าซ LPG มีอุณหภูมิติดไฟอยู่ที่ประมาณ 481 องศาเซลเซียส ให้ค่าความร้อนที่ 26,595 BTU/ลิตร แรงดันอยู่ที่ 100-130 PSI หรือประมาณ 4-6 บาร์ จึงสามารถใช้ถังเหล็กขึ้นรูปไม่มีตะเข็บ ความหนาขนาด 2.5 มม. ในการบรรจุได้ โดยจะจัดเก็บในรูปแบบของเหลว มีจุดเดือดที่ -50 องศาเซลเซียส (น้อยกว่านี้เป็นของเหลว สูงกว่านี้เป็นก๊าซ)
– แก๊ส NGV (Natural Gas Vehicle)
ก๊าซ NGV ที่เรามักจะเห็นใช้งานกับรถแท็กซี่หรือรถบรรทุกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า CNG (Compressed Natural Gas) เป็นก๊าซธรรมชาติเกิดจากการทับถมของฟอสซิลเหมือนน้ำมันและถ่านหินแต่อยู่ในรูปก๊าซมีส่วนประกอบหลักๆ คือ มีเทน (Methane CH4) ใช้การขุดเจาะเพื่อนำมาจัดเก็บและใช้งาน มีคุณสมบัติไร้สีไร้กลิ่นเช่นเดียวกัน แต่ NGV จะเบากว่าอากาศ จึงมีการลอยขึ้นกระจายไปสู่บรรยากาศได้ง่าย จึงไม่มีการใส่กลิ่นเข้าไปด้วย
NGV เป็นก๊าซที่มีแรงดันสูง ที่ประมาณ 2,200-3,000 PSI หรือประมาณ 20 บาร์ ถังที่จัดเก็บจึงต้องเป็นถังเหล็กขึ้นรูปไร้ตะเข็บที่มีความหนา 8 มม. ขึ้นไป จัดเก็บในรูปแบบก๊าซ ให้ค่าความร้อนอยู่ที่ 35,947 BTU/กิโลกรัม มีจุดเดือดที่ -162 องศาเซลเซียส (น้อยกว่านี้เป็นของเหลว สูงกว่านี้เป็นก๊าซ) มีอุณหภูมิติดไฟอยู่ที่ราว 650 องศาเซลเซียส
ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจ นำรถยนต์ไปติดแก๊ส
ก่อนตัดสินใจเอารถไปติดแก๊ส มีเรื่องที่ต้องรู้ก่อนนำไปพิจารณา
- ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ราคาเริ่มต้นประมาณ 20,000 – 40,000 บาท ขึ้นอยู่กับชุดอุปกรณ์และตัวถังที่เก็บแก๊ส
- ค่าออกใบรับรองจากวิศวกร ซึ่งต้องมีใบนี้ไปยื่นในการขึ้นทะเบียนที่ขนส่ง ค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาท
- เลือกใช้ร้านที่มีมาตรฐานในการติดตั้งเพื่อไม่ให้มีปัญหากับรถเราในระยะยาว
- ศึกษาเรื่องเครื่องยนต์ก่อนว่าเครื่องยนต์ของรถเรานั้นทนกับแก๊สได้มากขนาดไหน
- ถังจะมีอยู่สองแบบ ถังโดนัทกับถังแคปซูล หากเป็นถังโดนัทเวลาติดตั้งจะไว้บริเวณยางอะไหล่ ส่วนถังแคปซูลจะตั้งอยู่ตรงล้อหลัง หรือบางคนเลือกติดตั้งในกระโปรงหลังรถหรือกระบะหลังรถ
- การติดตั้งแก๊สอาจต้องเสียพื้นที่การใช้สอยของรถไปส่วนหนึ่ง หากเป็นรถที่ต้องขนของหรือสัมภาระเป็นประจำ ต้องดูว่าเหลือพื้นที่เพียงพอหรือไม่
- ร้านสามารถจัดอุปกรณ์ได้ตามงบประมาณที่เรามีได้ เช่น ถ้างบน้อยจริงๆ ก็จะได้เป็นชุดแก๊สแบบมือสองได้ ราคารวมติดตั้งจะอยู่ที่ประมาณ 1x,xxx บาท แต่อายุการใช้งานจะน้อยกว่ามือหนึ่ง ตามที่กฏหมายกำหนด เช่น อายุของถังจะต้องไม่เกิน 10 ปี ถ้าเกินต้องให้วิศวกรตรวจสอบ (มีค่าใช้จ่ายอีกเช่นกัน)
- หลังจากที่ติดตั้งแล้วเราต้องดูอะไรเป็นพิเศษบ้าง หลักๆเลยก็ถ้ารถเราเริ่มกินแก๊สผิดปกติวิ่งได้ระยะไม่เท่าเดิม สามารถนำรถไปจูนใหม่ได้ โดยปกติร้านที่เราติดตั้งจะจูนให้ฟรี ใช้เวลาประมาณ 15 นาที
- การดูแลรถในส่วนอื่นๆ ยังดูแลตามปกติ เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ ซึ่งบางร้านจะให้ Book Service สำหรับเข้ามา Service ทุกๆ 10,000 กม. หรือทุกๆ 6 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าแบบไหนถึงก่อน โดยเข้ามาตรวจเช็คทั้งระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัย
ถ้าถามว่าคุ้มมั้ย สำหรับช่วงที่น้ำมันขึ้นราคารายวันแบบนี้ ใครที่ต้องการลดค่าใช้จ่ายในส่วนของน้ำมันเชืัอเพลิง ก็ถือว่าคุ้มกับการลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เติมน้ำมันถังนึงก็หลายพัน เติมไม่กี่ทีก็ซื้อชุดแก๊สใหม่ได้แล้ว หากต้องการใช้ไปยาวๆ ยังไงก็คุ้ม ยิ่งใครที่ต้องเดินทางไกล หรือเดินทางเป็นประจำ จะประหยัดเงินไปได้อีกเยอะ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามข้อที่กล่าวข้างต้นชั่งดูว่าควรติดตั้งดีหรือไม่ การติดตั้งแก๊สอาจต้องดูแลรถให้ดีเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ ดังนั้นอย่าลืมใช้น้ำมันเครื่องที่ดีมีมาตรฐาน เพื่อให้รถใช้งานได้ดียาวนาน