พายุฟ้าฝนไม่ค่อยเป็นใจ เรื่องน้ำท่วมก็ไม่เข้าใครออกใคร หลายพื้นที่ในบ้านเราเจอฝนเจอพายุก็มีน้ำท่วมขัง แล้วรถของเราจะทำอย่างไรดี ถ้านำไปจอดไว้ที่สูงไม่ทันต้องมีแช่น้ำหรือจมน้ำกันบ้างล่ะ พอน้ำลดแล้วต้องทำอย่างไรต่อ วิธีดูแลรถหลังน้ำท่วม ต้องทำอะไรบ้าง
วิธีดูแลรถหลังน้ำท่วม ประมาณ 15-30 ซม.
กรณีนี้ถือว่าน้ำท่วมขังไม่มาก ประมาณครึ่งล้อ ไม่ได้เข้าไปในห้องโดยสาร จะดูแลรถไม่ยากเท่าไหร่ อาจต้องทำความสะอาดและตรวจเช็คตามจุดต่างๆ
– ล้างรถทำความสะอาด
หลังน้ำท่วม ต้องล้างรถทำความสะอาดภายนอกให้เรียบร้อยเสียก่อน ล้างคราบสิ่งสกปรกต่างๆ ที่อาจเกาะแน่น น้ำธรรมดาอาจไม่พออย่างน้อยควรมีแชมพูเพื่อล้างคราบสกปรกออก อย่าลืมซอกเล็กซอกน้อย ต้องล้างออกให้หมด ไม่ให้เป็นคราบฝังแน่นและอาจก่อให้เกิดสนิมได้ โดยเฉพาะใต้ท้องรถต้องฉีดล้างให้สะอาด หากเกรงว่าล้างเองไม่สะอาดก็ควรเข้าคาร์แคร์ เพื่อให้สะอาดหมดทั่วทั้งคัน
– ลูกปืนล้อรถ
หากมีน้ำท่วมเกิดขึั้น ล้อรถเป็นส่วนที่จมน้ำก่อนแน่ๆ เพราะฉะนั้นหลังน้ำลดควรต้องตรวจเช็คบริเวณลูกปืนล้อรถ ซึ่งจะสังเกตได้จากการทดลองขับรถออกไปแล้วฟังเสียงว่ามีเสียงตะกุกตะกัก หรือเสียงเสียดสีกันหรือเปล่า ซึ่งเกิดจากจาระบีที่อยู่ในลูกปืนล้อรถถูกน้ำชะล้างไป ต้องรีบซ่อมแซมแก้ไข อย่าปล่อยไว้เด็ดขาด เพราะถ้าถึงขั้นลูกปืนแตกอาจทำให้การขับขี่เกิดอันตรายได้
– น้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย
ตำแหน่งของน้ำมันเกียร์และน้ำมันเฟืองท้ายอยู่ค่อนข้างต่ำ มีความเสี่ยงที่จะมีน้ำเข้าไปข้างในได้ ลองดึงก้านวัดระดับน้ำมันเกียร์ออกมาดู ถ้ามีสีที่ผิดปกติไปแสดงว่าอาจมีน้ำซึมเข้าไป แนะนำว่าควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ใหม่
– ระบบเบรก
ระบบช่วงล่างยังมีระบบเบรกที่ต้องเช็ค ยิ่งรถจมน้ำนานก็อาจทำให้ระบบเบรกเกิดสนิม ผ้าเบรกเกิดความชื้น ทำให้เบรกได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เบรกมีเสียงดัง ควรนำรถออกไปขับข้าๆ และแตะเบรกเบาๆ ค้างไว้ เป็นการไล่ความชื้นออกจากผ้าเบรก และยังช่วยขัดเอาคราบและสนิมต่างๆ ออกไปด้วย ทำให้เบรกกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
น้ำท่วมสูงเกินกว่า 30 ซม.
หากน้ำท่วมสูงเกินกว่านั้น เป็นไปได้ว่าน้ำอาจเข้าไปในห้องโดยสารได้ ซึ่งกรณีนี้ต้องตรวจเช็คมากขึ้นกว่าเดิม โดยนอกจากการเช็คตามหัวข้อด้านบนแล้ว สิ่งที่ต้องเช็คเพิ่มขึ้นมาก็คือ
– อย่าเพิ่งติดเครื่องทันที
หลังจากน้ำลด อย่าเพิ่งรีบติดเครื่อง เพราะไม่รู้ว่าน้ำรั่วไหลไปถึงไหน เข้าไปถึงแผงวงจรหรีอเปล่า ดังนั้นควรตัดวงจรไฟฟ้าเสียก่อน โดยเปิดฝากระโปรงรถออก แล้วเอาขั้วไฟออกจากแบตเตอรีเสียก่อน
– ตรวจดูระบบไฟฟ้า
อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าที่ต้องตรวจเช็ค เช่น ตามปลั๊กไฟ สายไฟ มีน้ำเข้าหรือเปล่า กล่องฟิวส์ กล่อง ECU และตามจุดต่างๆ ควรต้องใช้เครื่องเป่าลมไล่เอาน้ำออกให้ได้มากที่สุด พวกไฟเลี้ยว ไฟฉุกเฉิน ไฟส่องสว่างต่างๆ ก็ต้องดูว่ายังใช้งานได้หรือไม่ มีน้ำเข้าไปขังข้างในหรือเปล่า ต้องเอาน้ำออกและเป่าให้แห้ง พร้อมทั้งตรวจเช็คห้องเครื่องไปด้วยในตัว ว่ามีสิ่งสกปรกอะไรหรือเปล่า จะได้เป่าออกทำความสะอาดไปด้วยเลย
– เช็คในห้องโดยสาร
ในห้องโดยสารมีน้ำเข้าหรือเปล่า ถ้ามีน้ำเข้าไป พวกเบาะนั่งหรือพรมต่างๆ ต้องรื้อออกมาทำความสะอาดและถ้ามีแดดควรเปิดประตูรถผึ่งแดดไว้ให้ภายในแห้ง หากเป็นเบาะหนังก็ทำความสะอาดง่ายหน่อย แต่ถ้าเป็นเบาะผ้าอาจต้องซักและตากให้แห้ง ไม่อย่างนั้นจะเกิดความชื้นหรือเชื้อราได้
– เช็ครังผึ้งหม้อน้ำ
ถ้าน้ำท่วมขังจนมีโคลนหรือสิ่งสกปรกอยู่มาก สิ่งที่จะโคลนจะมาติดมากที่สุดคงจะเป็นรังผึ้งหม้อน้ำ เพราะมีช่องเล็กๆ เต็มไปหมด ควรฉีดน้ำล้างทำความสะอาดออกให้หมด อย่าลืมดูชิ้นอื่นๆ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าล้างทำความสะอาดเรียบร้อย
– เช็คน้ำมันเครื่อง
หากน้ำท่วมสูง อาจเข้าไปถึงห้องเครื่อง หรือไปถึงอ่างเก็บน้ำมันเครื่องได้ รวมไปถึง น้ำมันเกียร์ น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ ก็มีโอกาสที่น้ำจะซึมเข้าไปได้เช่นกัน การตรวจเช็คก็เช่นเดียวกับน้ำมันเบรก คือดูว่ามีสีเปลี่ยนไปหรือไม่ หากสีเปลี่ยนอาจมีน้ำเข้าไป ควรต้องเปลี่ยนถ่ายของเหลวเหล่านี้ใหม่
น้ำท่วมสูงมาก
หากน้ำท่วมสูงมาก จนถึงขึ้นท่วมหัว หรือท่วมสูงเป็นเวลานานๆ รถอาจจะอาการหนักจนไม่สามารถแก้ไขได้เอง คงต้องให้ช่างช่วยตรวจเช็คว่ารถยังสามารถใช้งานได้อยู่หรือไม่