เมื่อรถมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ก็ต้องมีการเบรกให้รถหยุด และเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ จึงมีคำถามตามมาว่า ระบบเบรกรถยนต์ มีกี่แบบ แล้วเราควรใช้แบบไหนถึงจะดี เรามาดูความแตกต่าง ข้อดี ข้อเสีย ของระบบเบรกที่มีในตอนนี้กันดีกว่า
1. ระบบเบรกรถยนต์ ดรัมเบรก (Drum Brake)
ดรัมเบรค (Drum Brake) เป็นระบบเบรกในยุคเริ่มต้น ที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงแรก ซึ่งหลักการทำงานของระบบดรัมเบรกนั้นจะใช้หลักการของแรงผลัก เพื่อทำให้ล้อรถเกิดแรงเฉื่อยจนรถหยุด
โดยการทำงานของดรัมเบรคก็คือ ภายในตัวดรัมเบรกจะมีผ้าเบรกโค้งๆ ด้านในเรียกว่า ก้ามปูเบรก หรือ ฝักเบรค มีสปริงและลูกสูบต่อเข้ากับสายเบรก เมื่อเหยียบเบรก ผ้าเบรกโค้งๆ ด้านใน จะถูกแม่ปั๊มดันให้ไปติดเข้ากับด้านในของฝาครอบเบรก (Drum) ซึ่งฝาครอบเบรกจะยืดติดกับล้อรถอีกที เพื่อสร้างแรงเฉื่อยให้กับรถ ชะลอความเร็ว และหยุดรถได้ในที่สุด
ข้อดี
- สามารถช่วยเพิ่มแรงจับประกบกับฝาครอบเบรกได้อัตโนมัติ
- ไม่ต้องใช้แรงเหยียบเบรกมาก ก็สามารถชะลอความเร็ว และหยุดรถได้
- มีกำลังหยุดรถสูง เหมาะกับรถที่ใช้บรรทุกของหนักๆ
ข้อเสีย
- มีความร้อนสะสมสูง ถ่ายเทความร้อนได้ยาก
- การตอบสนองการเบรกค่อนข้างช้า
- เป็นระบบปิด จึงระบายน้ำได้ไม่ค่อยดี และดูแลรักษายาก
2. ดิสก์เบรก (Disc Brake)
ดิสก์เบรก (Disc Brake) เป็นระบบเบรกที่นิยมใช้กันแพร่หลายในรถรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน หลักการทำงานของระบบระบบดิสก์เบรกก็คือ จะมีผ้าเบรกอยู่ใกล้ๆ กับจานเบรก เมื่อเหยียบเบรก แม่ปั้มจะดันผ้าเบรกไปหนีบกับจานเบรกของล้อรถ ทำให้รถชะลอความเร็วลง และหยุดได้ในที่สุด ซึ่งมักใช้ดิสก์เบรกกับล้อหน้า แต่ถ้าหากเป็นรถที่มีสมรรถนะสูงก็จะใช้ดิสก์เบรกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ข้อดี
- สามารถตอบสนองต่อการหยุดรถได้ดีและรวดเร็ว
- ระบายความร้อน และระบายน้ำได้ดี
- บำรุงรักษาง่าย
- มีความสวยงาม ผู้ที่ชื่นชอบการแต่งรถมักเลือกใช้
ข้อเสีย
- กำลังในการหยุดรถน้อยกว่าระบบดรัมเบรก ไม่เหมาะกับรถบรรทุกหนัก
- ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสูง
- ผ้าเบรกหมดไว ต้องมีการเปลี่ยนผ้าเบรกบ่อยๆ
- ใช้แรงเหยียบเบรคมากกว่าระบบดรัมเบรก
ทั้งนี้ เบรกทั้งสองชนิดก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป และความเหมาะสมในการใช้งานต่างกัน อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นเบรกชนิดไหน ก็ควรหมั่นดูแลรักษาให้ใช้งานได้ดีอยู่เสมอเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่