รู้จักกับ น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท

รู้จักกับ น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท

น้ำมันแพงขึ้นทุกวันๆ เติมน้ำมันแต่ละทีทำเอากระเป๋าแฟบได้เลย หลายคนจึงอยากรู้ว่าน้ำมันแต่ละประเภทมันมีความแตกต่างกันอย่างไร รถของเราจะลองเติมน้ำมันทางเลือกอื่นๆ ที่ราคาถูกลงได้มั้ย ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับ น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท กันก่อน

น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละประเภท น้ำมันเบนซิน

เครื่องยนต์เบนซินกับดีเซล ต่างกันตรงที่กระบวนกันจุดระเบิด ซึ่งน้ำมันเบนซินจะใช้หัวเทียนในการจุดระเบิด ส่วนน้ำมันดีเซลไม่ได้ใช้หัวเทียน ดังนั้น เราจะเติมข้ามสาย เอาน้ำมันดีเซลมาเติมเบนซินไม่ได้ โดยคุณสมบัติของน้ำมันเบนซิน เป็นเชื้อเพลิงที่มาจากการกลั่นน้ำมันดิบแล้วนำมาปรับปรุงคุณภาพ เรียกว่า ออกเทน โดยความเข้มข้นของค่าออกเทนจะขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละประเภท ที่เรามักจะเห็นกันก็คือ เบนซิน 95 และ เบนซิน 91

– น้ำมันเบนซิน 95

หรือ เบนซินออกเทน 95 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความเสถียรที่สุด และมีราคาสูง สามารถใช้ได้กับรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์เบนซินแทบทุกประเภท มีค่าออกเทนสูงอยู่ที่ 95% ทำให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์และสะอาด การตอบสนองในการขับขี่เต็มประสิทธิภาพ

– น้ำมันเบนซิน 91

หรือ เบนซินออกเทน 91 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีค่าออกเทนอยู่ที่ 91% มีอัตราการเร่ง และการตอบสนอง ต่ำกว่าเบนซินออกเทน 95 เล็กน้อย ปัจจุบันได้ยกเลิกการขายน้ำมันชนิดนี้ไปแล้ว เพื่อให้ใช้น้ำมันประเภทแก๊สโซฮอล์แทน ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันและประหยัดกว่า

น้ำมันแก๊สโซฮอล์

น้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็นแนวคิดที่จะหาพลังงานทดแทน โดยการใช้แอลกอฮอล์ที่สกัดจากพืช เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว และอ้อย ที่เรียกว่า เอทานอล หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ มาผสมกับน้ำมันเบนซิน จนกลายมาเป็นพลังงานทดแทน แก๊สโซฮอล์ (Gasohol) ในปัจจุบัน

– น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95

เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มของแก๊สโซลีน ที่ถูกผลิตมาให้ใช้แทน เบนซินออกเทน 95 โดยมีส่วนผสมของ น้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ 90% และเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% อยู่ 10% ทำให้แก๊สโซฮอล์ที่ออกมามีค่าออกเทนเทียบเท่ากับ เบนซิน 95 นั่นเอง

– น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91

เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของ น้ำมันเบนซินออกเทน 91 อยู่ 90% ผสมกับเอทานอล ที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% อยู่ 10% คือสัดส่วน 9:1 และได้ค่าออกเทนออกมาเทียบเท่าเบนซิน 91 ซึ่งมีข้อดีคือ ราคาถูกกว่า และไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะเครื่องยนต์ อัตราเร่งไม่แตกต่างจาก เบนซิน 91 มากนัก จึงถูกนำมาใช้แทนที่น้ำมันเบนซิน 91

– น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E20

เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของ น้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ 80% ผสมกับเอทานอล 20% (จึงเรียกว่า E20 นั่นเอง) จึงทำให้ได้น้ำมันที่มีราคาถูกลงมา แต่ประสิทธิภาพการใช้งานและอัตราเร่งจะน้อยกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เหมาะกับการใช้งานในเมือง

– น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E85

เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของ น้ำมันเบนซินออกเทน 95 อยู่ 15% ผสมกับเอทานอล 85% (จึงเรียกว่า E85) จะเห็นว่ามีสัดส่วนของเอทานอลที่มากถึง 85% จึงเป็นน้ำมันที่มีราคาถูกที่สุดในกลุ่ม แต่ด้วยความที่มีน้ำมันเบนซินอยู่ในสัดส่วนที่น้อย และมีแอลกอฮอล์มาก จึงมีการระเหยสูง ไม่เหมาะกับการขับขี่ทางไกล หรือขับเป็นเวลานานๆ เพราะจะเผาไหม้ไวกว่า และต้องเติมน้ำมันบ่อยๆ และสมรรถนะในการขับขี่ด้อยกว่าเบนซินธรรมดา หรือแก็สโซฮอล์ธรรมดา 

ข้อควรรู้ สำหรับใครที่อยากจะหันมาเติมน้ำมัน E85 เพื่อลดค่าใช้จ่าย น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ E85 ต้องใช้กับรถยนต์ FFV (Flexible Fuel Vehicle) เท่านั้น หากรถของคุณไม่ได้ระบุว่าสามารถเติมน้ำมันแก็สโซฮอล์ E85 ก็ไม่ควรเติมโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เครื่องยนต์เร่งไม่ขึ้น สะดุด และสตาร์ทติดยาก

น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล

ด้วยกระบวนการทำงานของเครื่องยนต์ในการ ดูด อัด ระเบิด คาย ของเครื่องยนต์ดีเซล จะมีการใช้แรงอัดที่สูงมากเพื่อให้เกิดการจุดระเบิด ดังนั้น น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องดีเซลจึงต้องมีจุดเดือดสูงด้วย ซึ่งน้ำมันดีเซลนั้นเป็น น้ำมันดิบที่ได้จากโรงกลั่นน้ำมัน ที่มักเรียกกันว่า “น้ำมันใส” หรือ “Distillate Fuel” ซึ่งมีคุณสมบัติคือ มีจุดเดือดสูงถึง 180 – 370 องศาเซลเซียส  โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (HSD: High Speed Diesel Oil) น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว หรือ น้ำมันโซล่า จะใช้กับเครื่องยนต์ที่มีความเร็วรอบสูงเกิน 1,000 รอบ/นาที เช่น รถยนต์ รถบรรทุก เรือประมง เรือโดยสาร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นน้ำมันที่มีค่าซีเทนสูงและระเหยเร็ว
  • น้ำมันดีเซลหมุนช้า (LSD: Low Speed Diesel Oil) ใช้กับเครื่องยนต์ที่มีความเร็วรอบต่ำกว่า 1,000 รอบ/นาที มักใช้กับเครื่องจักรกล เป็นสัดส่วนผสมระหว่าง น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และน้ำมันเตา

ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกน้ำมันดีเซลใหม่ ซึ่งสำหรับใครที่ไม่ค่อยได้ขับรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ถ้าไปเติมน้ำมันอาจจะงง เพราะชื่อเรียกก็ใกล้เคียงกัน สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ

– น้ำมันดีเซลเดิม เปลี่ยนชื่อเป็น น้ำมันดีเซล B7

คือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 7% และสารเติมแต่งคุณภาพสูงที่ช่วยชะล้างทำความสะอาดเครื่องยนต์ ป้องกันการเกิดสนิม ลดมลพิษ

– น้ำมันดีเซล B10 เดิม เปลี่ยนชื่อเป็น น้ำมันดีเซล

น้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 10% 

– น้ำมันดีเซล พรีเมี่ยมเดิม เปลี่ยนชื่อเป็น น้ำมันดีเซล พรีเมี่ยม B7

น้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม ของแต่ละแบรนด์ จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นน้ำมันตัวพิเศษ ที่มีราคาสูงกว่าแบบปกติ ซึ่งจะมีการเผาไหม้ที่หมดจด และมีประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ทำงานได้อย่างเต็มที่ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกภายในเครื่องยนต์ได้ดีกว่า

– น้ำมันดีเซล B20

เป็นน้ำมันดีเซลที่ถูกปรับปรุงให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมีราคาประหยัด โดยรถที่จะเติมน้ำมันไบโอดีเซล B20 ได้จะต้องเป็นรถที่ผ่านมาตรฐาน EURO 4 เท่านั้นจึงจะรองรับ โดยส่วนผสมหลักของน้ำมันชนิดนี้คือ ไบโอดีเซลเมทิลเอสเตอร์ (B100) ในอัตราส่วน 20% และน้ำมันดีเซล 80%

สนใจช้อปผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องยูคอน ได้ที่