จาระบี คือสารหล่อลื่นกึ่งของแข็ง กึ่งของเหลว เกิดจากการผ่านกระบวนการของน้ำมันปิโตรเลียมหรือน้ำมันพืช ทำปฏิกิริยากับด่างในลักษณะเดียวกับสบู่ ทำให้ได้จาระบีที่มีลักษณะเหนียวข้น แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่ต้องเสียดสีก็สามารถไหลได้สะดวก จึงนิยมนำมาใช้งานกับเครื่องจักรในบางจุดที่ไม่สามารถใช้น้ำมันหล่อลื่นได้ หน้าที่ของจาระบี มีอะไรบ้างที่ควรรู้
จาระบีประกอบไปด้วย 3 สารประกอบหลักๆ ดังนี้
- สารอุ้มน้ำมัน (Thickener)
- น้ำมันหล่อลื่น (Lubricant Oil)
- สารเพิ่มคุณภาพ (Additive)
หน้าที่ของจาระบี มีหน้าที่อย่างไร?
จาระบี มีหน้าที่เป็นสารหล่อลื่นสำหรับชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ โดยจะเกาะติดและรักษาพื้นผิวที่มีการเคลื่อนที่ ไม่ให้น้ำหนัก ไม่ให้เกิดแรงเสียดทาน หน้าสัมผัส หรือแรงจากการหมุน ที่อาจทำให้อุปกรณ์เสียหายได้ และที่สำคัญคือจาระบีจะมีการคงคุณสมบัติได้ดี แม้ว่าอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมจะสูงขึ้น โดยจาระบีกับน้ำมันหล่อลื่นจะใช้งานคนละรูปแบบกัน จึงใช้แทนกันไม่ได้ และจาระบีจะนำไปใช้งานในจุดที่ไม่สามารถใช้น้ำมันหล่อลื่นได้ เช่น ตามชิ้นส่วนภายนอก จุดหมุน เพลา เฟือง เป็นต้น โดยมีการทำงานที่สำคัญดังนี้
- เป็นเหมือนสารผนึกที่ช่วยลดรอยรั่ว หรือช่องว่าง และป้องกันชิ้นส่วนจากวัตถุเจือปน และฝุ่นละออง
- มีความง่ายในการใช้กว่าน้ำมันหล่อลื่น ในจุดต่างๆ ที่น้ำมันหล่อลื่นไม่สามารถทำได้
- จาระบีจะยึดจับของแข็งที่เป็นสารแขวนลอย แต่ถ้าเป็นน้ำมันหล่อลื่นสารแขวนลอยจะกระจายตัวในน้ำมัน
- ระดับของเหลวไม่ต้องควบคุม หรือต้องคอยตรวจสอบ
จาระบีใช้กับงานประเภทอะไร?
- ใช้กับเครื่องจักรที่ทำงานไม่ต่อเนื่อง หรือต้องถูกเก็บไว้เป็นเวลานาน เพราะชั้นฟิล์มหล่อลื่นของจาระบีจะช่วยรักษาชิ้นส่วนเคลื่อนที่ของเครื่องจักรเอาไว้
- ใช้กับเครื่องจักรที่ผู้ใช้ไม่สะดวกที่จะใส่น้ำมันหล่อลื่นได้ หรือใส่ได้ยาก เช่น ในจุดที่คับแคบและเข้าถึงยาก
- ใช้กับเครื่องจักรที่อยู่ในสภาวะทำงานหนัก เช่น อยู่ในอุณหภูมิสูง มีความกดดันสูง มีแรงสั่นสะเทือนมาก เป็นต้น เพราะด้วยเนื้อของจาระบีมีความหนาสามารถรองรับชิ้นส่วนได้ดี โดยทำหน้าที่ได้ดีกว่าน้ำมันหล่อลื่นที่เป็นของเหลวจะทำให้ชั้นที่รองรับบางเกินไปและอาจแยกตัวออกจากกันได้
- ใช้กับชิ้นส่วนหรือเครื่องจักรเก่า โดยจาระบีจะทำหน้าที่ได้ดีมากในการช่วยลดช่องว่างของชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่ของเครื่องจักรให้น้อยลง ช่วยยืดอายุของเครื่องจักรเก่า และลดเสียงดังจากการเสียดสีของชิ้นส่วนเก่าๆ ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี จาระบีอาจมีข้อเสียอยู่บ้างตรงที่ มีการระบายความร้อนได้น้อยกว่าน้ำมัน และหากใช้มากเกินไปจะทำให้สกปรกและทำความสะอาดยากกว่า ส่วนข้อดีคือสามารถทำหน้าที่เป็นซีลหรือปิดช่องว่างต่างๆ ได้ดี และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำจาระบีไปใช้งานกับอะไร และเหมาะสมกับสภาวะการทำงานหรือไม่ เพื่อให้จาระบีทำงานได้ตรงตามหน้าที่ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด