พ.ร.บ. มีไว้เพื่ออะไร ทำไมต้องจ่ายทุกปี? ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ ล้วนแต่ต้องมีการจ่ายค่า ภาษี และ พรบ. ต่ออายุในทุกๆปี ส่วนใหญ่หลายคนจะสับสนระหว่าง 2 อย่างนี้ เรียกผิดเรียกถูกกันไป เรามาทำความเข้าใจกันใหม่ดีกว่า
พ.ร.บ. รถยนต์, รถจักรยานยนต์ คืออะไร?
พ.ร.บ. รถยนต์, รถจักรยานยนต์ หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ คือ ประกันรถยนต์ภาคบังคับ โดยที่กฎหมายบังคับให้รถยนต์ทุกคันจะต้องทำ เพื่อรับความคุ้มครองต่อชีวิต, ร่างกาย ของผู้ประสบภัยจากการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น, ค่าชดเชยต่างๆ ที่เกิดจากอุบัติเหตุ จนทำให้สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต
รถที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้อง ทำ พ.ร.บ.
รถที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้อง ทำ พ.ร.บ. คือ รถเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท รถสำหรับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียน และมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด รวมถึงรถของกระทรวง ทบวงกรม เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด
ความคุ้มครองของ พ.ร.บ. มีอะไรบ้าง?
ค่าเสียหายเบื้องต้น ที่ได้รับโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่บริษัทได้รับคำร้อง
- ค่ารักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บ สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
- การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือ ทุพพลภาพอย่างถาวร 35,000 บาทต่อคน
- ค่าสินไหมทดแทน ผู้เคลมประกันจะได้รับ หลังจากการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิดตามกฎหมาย
ค่าสินไหมทดแทน ที่มีการปรับเพิ่มความคุ้มครองประกันภัย พ.ร.บ. เกิดอุบัติเหตุจากรถ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2563
- ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน
- การเสียชีวิต หรือ ทุพพลภาพอย่างถาวร 500,000 บาทต่อคน
- ค่าชดเชยการรักษาตัว (ผู้ป่วยใน) 200 บาทต่อวัน ระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน หรือไม่เกิน 4,000 บาท
- วงเงินคุ้มครองสูงสุดต่ออุบัติเหตุ สำหรับรถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่ง ไม่เกิน 5,000,000 บาทต่อครั้ง
- วงเงินคุ้มครองสูงสุดต่ออุบัติเหตุ สำหรับรถยนต์เกิน 7 ที่นั่ง ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่อครั้ง
วิธีเคลม พ.ร.บ. ทำอย่างไร?
- แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำวัน
- เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และเมื่อรักษาเรียบร้อยแล้ว ต้องขอเอกสารจากโรงพยาบาล คือ ใบรับรองแพทย์ และใบเสร็จรับเงิน
- ส่งเอกสารต่อบริษัทประกันภัยที่ซื้อ พ.ร.บ. เพื่อขอเบิกค่ารักษาพยาบาล เอกสารที่ต้องใช้ คือ บันทึกประจำวันของตำรวจ, ใบรับรองแพทย์, ใบเสร็จรับเงิน, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ
ต่อ พ.ร.บ. ได้จากที่ไหนบ้าง?
การต่อ หรือการซื้อ พ.ร.บ. ไม่ใช่เรื่องยาก และไม่จำเป็นต้องไปที่ขนส่งให้เสียเวลา ปัจจุบันมีช่องทางหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของบริษัทประกัน, เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 รวมถึงช่องทางออนไลน์ ที่เพียงแค่ใส่ข้อมูลของเราง่ายๆเท่านั้นเอง